5 ยุทธศาสตร์ พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งไทย

         แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 มีเป้าหมายในการยกระดับการขนส่ง และโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

         โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในทุกสาขา ทั้งทางราง ถนน น้ำ และอากาศ เชื่อมโยงโครงข่ายอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การปรับพฤติกรรมการเดินทางของผู้คน และรูปแบบในการทำธุรกิจ และความต้องการในการเดินทางอันเป็นผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น สามารถตอบสนองผู้ใช้บริการ มีความทันสมัย และรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยได้มีการวางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 5 ด้าน ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง

     - พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกรูปแบบการขนส่งและการบริการ ให้มีโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาจุดเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบขนส่ง (เช่น ท่าเรือสาทร ที่เป็นจุดเชื่อมต่อเรือด่วนเจ้าพระยากับรถไฟฟ้า BTS และระบบขนส่งสาธารณะ) และการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง  

     - การบริหารจัดการระบบคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการบริการจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบริการของภาคคมนาคมขนส่ง

     - การขนส่งสินค้า ส่งเสริมการขนส่งสินค้าทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศให้ใช้การขนส่งทางราง และทางน้ำเป็นรูปแบบหลัก เพราะเป็นรูปแบบที่มีต้นทุนต่ำ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   

     - การขนส่งผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง พอเพียง มีคุณภาพ และมีค่าโดยสารที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ (ตรงต่อเวลา น่าเชื่อถือ สะอาด สะดวก และปลอดภัย)

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนา ปรับปรุงกฎหมาย กำกับดูแล และปฏิรูปองค์กร  

     - การปรับโครงสร้างองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านคมนาคมขนส่งให้มีบทบาทที่ชัดเจน ระหว่างหน่วยงานด้านนโยบายกำกับดูแล และประกอบการด้านการขนส่ง เพื่อให้การดำเนินงานในแต่ละด้านมีความชัดเจน มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานสากล

     - เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ เศรษฐกิจ สังคม บริบทการค้าการลงทุนที่เปลี่ยนไป จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

     - เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริหารจัดการด้านคมนาคมขนส่ง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การผลิตและพัฒนาบุคลากร  

     เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีคุณภาพเพียงพอ ได้มาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านคมนาคมขนส่งทั้งภายในประเทศ และระดับภูมิภาค    

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง

     ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะ ที่มีความก้าวหน้ามาปรับใช้ในการพัฒนาโครงสร้าง และบริหารด้านคมนาคมขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา: กรมการขนส่งทางบก
เบอร์โทรศัพท์: +66 2271-8888


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 20,846,090