ผนึกกำลัง ฟื้นฟูศรัทธาชาวพุทธ  ชู “ReFaith Thailand” เชื่อมโยงวัฒนธรรม - ศีลธรรมกับคนรุ่นใหม่

ผนึกกำลัง ฟื้นฟูศรัทธาชาวพุทธ  ชู “ReFaith Thailand” เชื่อมโยงวัฒนธรรม - ศีลธรรมกับคนรุ่นใหม่

ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 มีมติมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยพุทธที่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างฆราวาสกับพระสงฆ์และส่งเสริมวิถีคิดแบบไทย เพื่อธำรงไว้ซึ่งศีลธรรมและหลักการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย นั้น

ได้รับรายงานว่า นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา หารือร่วมกับนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เตรียมบูรณาการ “โครงการฟื้นฟูศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาในกลุ่มคนรุ่นใหม่” ภายใต้ชื่อ “ReFaith Thailand” ภายใต้แนวคิด “ฟื้นใจ .. ให้ศรัทธา” ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยจะประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วย มีเป้าหมายเพื่อสร้างแกนนำคนรุ่นใหม่ร่วมฟื้นฟูความศรัทธาในพระพุทธศาสนาในนาม “พุทธะพลังใหม่ สร้างไทยสู่อนาคต” ผ่านกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้   ที่ร่วมสมัย สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงพระพุทธศาสนากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่อย่างสร้างสรรค์ มีกิจกรรมหลัก อาทิ เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างพระสงฆ์ เยาวชน ครู และชุมชนในระดับพื้นที่ สื่อธรรมะยุคใหม่ที่เข้าถึงง่าย ทันสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ส่งเสริมบทบาทของพระนักพัฒนาและพระสงฆ์รุ่นใหม่ในการเผยแผ่ธรรมะเชิงรุก บูรณาการหลักธรรมในระบบการศึกษา ทั้งในโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย รวมถึงการศึกษานอกระบบ รวมทั้งรณรงค์ศีลธรรมและวัฒนธรรมพุทธ  ในครอบครัว ชุมชน และสังคม ผ่านกิจกรรมในวัดและศูนย์วัฒนธรรม

“พระพุทธศาสนา คือรากฐานทางจิตใจที่หล่อหลอมสังคมไทย เราต้องช่วยกันฟื้นฟูศรัทธา ด้วยการสื่อสารที่เข้าถึงจิตใจของคนรุ่นใหม่ ให้เขาเข้าใจธรรมะผ่านภาษาและประสบการณ์ของเขา เพื่อให้สังคมไทยมีหลักยึดมั่นที่มั่นคงในอนาคต”

ทั้งนี้ วธ. โดย ศน. ได้กำหนดแนวทางการฟื้นฟูศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน 2ระยะ ดังนี้

1. ระยะเร่งด่วน บูรณาการใน 4 มิติ ด้านศาสนบุคคล ให้ความรู้เรื่องมารยาทที่เหมาะสมกับพระสงฆ์ ส่งเสริมการบวชและปฏิบัติธรรม เช่น โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน และค่ายธรรมะสำหรับเยาวชน ด้านศาสนวัตถุ / ศาสนสถาน จัดกิจกรรมเชื่อมโยงวัดกับชุมชน เช่น “ตักบาตรศรัทธาอิ่มบุญ” เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลางของจิตใจและเศรษฐกิจชุมชน ด้านศาสนพิธี ปลูกฝังความเข้าใจใหม่ว่า “บุญ” วัดจากเจตนาและศรัทธา ไม่ใช่จำนวนเงิน ส่งเสริมกิจกรรมที่เน้นเนื้อหาธรรมะและการมีส่วนร่วม เช่น ตักบาตร ฟังธรรม เวียนเทียน โดยลดความฟุ่มเฟือย และด้านศาสนธรรม เน้นหลัก “เชื่ออย่างมีเหตุผล” โดยใช้ปัญญาไตร่ตรองและส่งเสริมให้ธรรมะเป็นวิถีชีวิต เช่น ตักบาตร พูดดี คิดดี ทำดี ไม่จำกัดเฉพาะวันพระหรือบนสื่อออนไลน์เท่านั้น

2. ระยะยาว ด้านศาสนบุคคล ยกย่องบุคคลต้นแบบทางศาสนา และคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สร้างหลักสูตรผลิตศาสนทายาท เช่น โครงการบวชสามเณร อบรมธรรมทายาท เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๖ - ๒๕๗๐) พอเพียง – วินัย – สุจริต – จิตอาสา – กตัญญู ด้านศาสนวัตถุ / ศาสนสถาน พัฒนาเส้นทาง “ศรัทธา-วัฒนธรรม” และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงจาริกธรรม ด้านศาสนพิธีสนับสนุนให้พิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนาเป็นไปอย่าง “พอเพียง สงบ งดงาม” และสอดคล้องกับหลักธรรม ด้านศาสนธรรม ผลิตและพัฒนาสื่อธรรมะสร้างสรรค์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ขับเคลื่อนโมเดล “บวร” (บ้าน-วัด-โรงเรียน) โดยใช้ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นศูนย์กลางส่งเสริมกิจกรรมธรรมะในโรงเรียน ใช้เทคโนโลยีเผยแผ่ธรรมะ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมธรรมะเชิงสร้างสรรค์ เช่น “ธรรมะอารมณ์ดี” และ “วัยรุ่นตื่นรู้ โต้ธรรมะวาที” เพื่อเข้าถึงเยาวชน เป็นต้น

ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 99,673,256